Goldfinger (1964) จอมมฤตยู 007
Goldfinger จอมมฤตยู เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ในภาพยนตร์ชุดบอนด์เดอะซีรีส์ที่ค่ายภาพยนตร์อีโอเอ็น (EON) สร้างขึ้น และเป็นครั้งที่ 3 ที่ฌอน คอนเนอรี่ แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ ให้กับค่ายอีโอเอ็นนี้ กำกับโดย กาย ฮามิลตัน (Guy Hamilton)
เรื่องราวของ เจมส์ บอนด์ได้รับมอบหมายให้เกาะติด ออริค โกลด์ฟิงเกอร์ มหาเศรษฐีผู้คลั่งไคล้ในทองคำเป็นพิเศษ บอนด์ตามรอยโกลด์ฟิงเกอร์จากไมอามี่ไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่นบอนด์ไปพบเงื่อนงำเกี่ยวกับปฏิบัติการ Operation Grandslam แต่เขาก็พลาดท่าถูกโกลด์ฟิงเกอร์จับตัวไว้ได้ บอนด์ต่อรองเรื่องปฏิบัติการดังกล่าวจนถูกจับตัวกลับมาที่อเมริกาอีกครั้ง และเขาพบว่ากัปตันสาว พุซซี่ กาลอร์ และทีมนักบินหญิงของเธอคือส่วนหนึ่งในปฏิบัติการนี้ ซึ่งหากโกลด์ฟิงเกอร์ทำสำเร็จ จะสร้างความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวง และคนที่ได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ คือ โกลด์ฟิงเกอร์
และนี่คือหนังบอนด์ตอนที่สามที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสนุกที่สุดตอนหนึ่ง และยังน่าจดจำมาจนทุกวันนี้ พร้อม ๆ กับภาคนี้ที่เริ่มเข้าสู่ทิศทางอันเป็นขนบธรรมเนียมของบอนด์อย่างเต็มตัว อันได้แก่ ฉากเปิดตัวด้วยภารกิจของบอนด์ที่จะต้องมีก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก ซึ่งเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ภาคนี้เป็นต้นไป โดยส่วนใหญ่แล้วฉากเปิดตัวจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักของภาคนั้น ๆ ถือว่าเป็นงานโชว์ของโชว์ความสามารถของบอนด์โดยเฉพาะ
และถัดมาก็คืออุปกรณ์ไฮเทคที่เหมือนตัวช่วย (ชีวิต) สำหรับบอนด์ เป็นการเปิดตัวรถยนต์พยัคฆ์ร้าย แอสตัน มาร์ติน ดีบี5 ซึ่งครบครันไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ในแง่หนึ่งมันลดทอนความสามารถเฉพาะตัวของบอนด์ (ซึ่งผู้สร้างเองก็ยอมรับว่า แค่เพียงกดปุ่มมันก็ช่วยชีวิตบอนด์ได้แล้ว) ทำให้หนังขาดความสมจริงกว่าสองภาคก่อนลง และเติมความเป็นแฟนตาซีมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของหนังบอนด์ ส่งผลให้ตอนต่อ ๆ มาของบอนด์ อุปกรณ์ไฮเทคกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับหนังบอนด์
เราคงไม่ต้องกล่าวถึง ฌอน คอนเนอรี่ ที่รับบทเจมส์ บอนด์มาจนถึงตอนที่สามแล้ว ความมั่นใจเต็มเปี่ยม พร้อม ๆ กับภาพลักษณ์อันดูสง่างาม และเสน่ห์สมชายที่ทำเอาสาว ๆ สะท้าน